การแปลคืออะไร (นิยาม) 

     แคทฟอร์ด (Catford, 1965, p. 1) ได้ให้คำนิยามการแปลไว้ว่า “Translation is an operation performed on language: A process of substituting a text in one language for a text in another.” แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า การแปลคือปฏิบัติการที่กระทำต่อภาษา นั่นหมายถึงผู้แปลจะต้องพยายามในการนำเนื้อหาจากภาษาหนึ่งไปแทนที่เนื้อหาในอีกภาษาหนึ่งให้ผู้อ่านได้เข้าใจในสิ่งเดียวกันกับผู้อ่านข้อความจากต้นฉบับ

     ไนดาและเทเบอร์ (Nida and Taber, 1982, p. 12) ได้นิยามการแปลว่า “Translation consists in reproducing in the receptor language the closest natural equivalent of the source-language message, first in terms of meaning and secondly in terms of style.” แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า การแปลมีองค์ประกอบคือการหาความหมายในภาษาของผู้รับสารให้มีความใกล้เคียงเป็นธรรมชาติมากที่สุด เทียบเท่ากับภาษาต้นฉบับ อันดับแรกคือความหมายต้องถูกต้องใกล้เคียง อันดับที่สองคือรูปแบบการใช้ภาษาต้องใกล้เคียง

     นิวมาร์ค (Newmark, 1995, p. 5) ได้กล่าวถึงการแปลว่า “It is rendering the meaning of a text into another language in the way that the author intended the text. Common sense tells us that this ought to be simple, as one ought to be able to say something as well in one language as in another. On the other hand, you may see it as complicated, artificial and fraudulent, since by using another language you are pretending to be someone you are not. Hence in many types of text (legal, administrative, dialect, local, cultural) the temptation is to transfer as many SL

(Source Language) words to the TL (Target Language) as possible. The pity is that the translation cannot simply reproduce, or be, the original.” แปลได้ว่า เป็นการถ่ายทอดความหมายจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งให้ตรงตามความหมายของผู้เขียน แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้วการแปลควรจะเป็นสิ่งที่กระทำได้โดยเรียบง่ายธรรมดา เช่นเดียวกับผู้พูดในภาษาหนึ่งพูดอีกภาษาหนึ่งให้ได้ความหมายอย่างเดียวกัน อย่างไรก็ตามการแปลก็อาจจะเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ไม่เป็นธรรมชาติ ในเมื่อการใช้ภาษาอื่นนั้นเราต้องเสแสร้งทำตัวเป็นบุคคลอื่นที่มิใช่ตัวของตัวเอง ในการแปลเนื้อหาหลากประเภท (เช่น กฎหมาย การบริหาร ภาษาถิ่น ท้องถิ่น วัฒนธรรม) เรามักมีแนวโน้มที่จะถ่ายทอดคำในภาษาต้นฉบับไปสู่คำในภาษาแปลให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ แต่อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถจำลองแบบมา หรือเป็นบทเดียวกับต้นฉบับดั้งเดิมได้

     วรรณา แสงอร่ามเรือง (2542, หน้า 7) กล่าวอธิบายนิยามการแปลของผู้เชี่ยวชาญเยอรมันไว้ว่า: การแปลไม่ใช่การแปลงรหัสโดยผู้แปลทำหน้าที่เป็นผู้เปลี่ยนรหัสเท่านั้น เราไม่ได้แปลเนื้อความที่เรียงร้อยเป็นท่อน ๆ แต่เราแปลตัวบท เราจะต้องมองตัวบททั้งหมดเป็นภาพรวม เนื่องจากภาษาไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่เกิดจากสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้ต้องมีการสื่อสาร มีกรอบของวัฒนธรรมมาเกี่ยวข้องด้วย แฟร์เมียเน้นว่า การแปลเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรม (Kulturtransfer) ส่วนเฮอนิกช์ (HÖnig) และคุสเมาล์ (KuBmaul) มองว่า ตัวบทเป็นส่วนของสังคมวัฒนธรรมที่แสดงออกทางภาษา เราจึงสรุปได้ว่า การแปลเป็นการจัดเรียบเรียงตัวบทเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำหนดไว้ และจัดเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมปลายทาง

     มารีอานน์ เลเดแรร์ (2540, หน้า 26) กล่าวว่า “ไม่มีนักทฤษฎีคนใดอีกแล้วที่ยังยืนยันอยู่ว่า การแปลคือ การถ่ายภาษาคำต่อคำ ทุกคนเลิกเชื่อหลักการนี้ และไม่มีใครยอมออกมาสนับสนุนหลักการดังกล่าวอีกต่อไป” ผู้แปลควรแปลตามความหมายที่แท้จริง ต้องไม่ปฏิบัติผิดวิธีด้วยการหันไปใช้วิธีเทียบภาษา ซึ่งไม่มีความหมายอะไรเลย ดังนั้นการแปลสำหรับเลเดแรร์ จึงได้แก่ การถ่ายทอดความหมายมิใช่การถ่ายภาษา หรือการแปลคือ การสื่อความหมายอย่างแท้จริงทีเดียว มิใช่จำกัดอยู่แค่การค้นหาคำ หรือโครงสร้างทางไวยากรณ์ในภาษาหนึ่งให้ตรงกับคำหรือโครงสร้างทางไวยากรณ์ในอีกภาษาหนึ่งเท่านั้น

     จิระพรรษ์ บุณยเกียรติ (อ้างถึงใน ทิพา เทพอัครพงศ์, 2551, หน้า 4) ให้นิยามว่าการแปลเป็นกระบวนการทางความคิดที่ผู้แปลต้องนำความจากภาษาต้นฉบับไปตีความและถ่ายทอดออกมาในอีกภาษาหนึ่งให้ได้ความหมายพร้อมทั้งรสและความรู้สึกใกล้เคียงกับภาษาต้นฉบับ

เห็นได้ชัดว่านักทฤษฎีทั้งหลายต่างมีความเห็นตรงกันคือ การแปลจะเน้นในเรื่องของความหมาย ไม่ได้นำประเด็นการถ่ายคำ หรือถ่ายภาษามาเป็นสิ่งสำคัญในการแปลเช่นในสมัยโบราณ ในการแปลคัมภีร์ทางศาสนาที่ผู้แปลจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างประโยคภาษาต้นฉบับ เช่น ฮีบรู กรีก ลาติน เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของต้นฉบับมาไว้ในฉบับแปล สุพรรณี ปิ่นมณี (2557, หน้า 7) กล่าวว่าเป็นทรรศนะที่ผิดพลาดเอาการอยู่สำหรับสมัยปัจจุบันที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายมีความเห็นสอดคล้องกันว่าความหมายที่ตรงกันในภาษาต้นฉบับและภาษาแปล คือความศักดิ์สิทธิ์ของงานแปล

กล่าวโดยสรุป การแปลเป็นการถ่ายทอดภาษาจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง โดยถ่ายทอดภาษาผ่านความหมายและการเลือกใช้คำ ผู้แปลจะต้องรักษารูปแบบและคงความหมายของต้นฉบับไว้อย่างครบถ้วน รวมไปถึงความหมายแฝง นอกจากนี้การแปลยังเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้บริบทและวัฒนธรรมของภาษานั้น ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการแปล

Teacher Inin:)

 

My blog

https://intrira-inin.blogspot.com/

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม NPRU

www.npru.ac.th

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

www.hm.npru.ac.th

Interesting e-book (เอกสาร ตำราหลากหลายสาขาวิชา สามารถเข้าไปอ่านได้ฟรีค่ะ)

e-book.npru.ac.th