ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเขียนแบบ

          การเขียนแบบเป็นทักษะการปฏิบัติงานที่จำเป็นสำหรับนักออกแบบทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพวิศวกร สถาปนิก มัณฑนากร รวมทั้งนักออกแบบในทุกสาขาวิชาชีพ ดังนั้นจึงเป็นวิชาสำคัญอันเป็นพื้นฐานสำหรับนักศึกษาที่เรียนในสาขาศิลปะและการออกแบบในทุกสาขา ที่จะต้องสนใจศึกษาทำความเข้าใจและฝึกปฏิบัติจนเกิดทักษะความชำนาญ จึงจะสามารถปฏิบัติการเขียนแบบและการอ่านแบบได้อย่างถูกต้อง เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ของตน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับรู้ผลงานที่ออกแบบได้อย่างถูกต้องตรงกัน ดังนั้นการเขียนแบบจึงเปรียบเสมือนแผนที่นําทางเพื่อไปสู่จุดหมายได้อย่างถูกต้อง ผู้ศึกษาควรเห็นความสําคัญของงานเขียนแบบ มีความเข้าใจวิวัฒนาการและพัฒนาการของเครื่องมือการเขียนแบบ สามารถเลือกรูปแบบและวิธีการถ่ายทอดงานเขียนแบบได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับงานเขียนแบบประเภทต่าง ๆ ได้

1.1 ความหมายและความสำคัญ

          มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์อื่น เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด มนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ออกมาตลอดเวลาและมีวิวัฒนาการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผิดจากสัตว์ที่มีขีดจำกัดในเรื่องของการคิดและจะคิดตามสัญชาติญาณที่มีมาตามธรรมชาติ มนุษย์จึงพัฒนาไปอย่างไม่มีขีดจำกัด มนุษย์จึงต้องมีการสร้างสื่อขึ้นมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในแรกเริ่มมนุษย์อาจจะสื่อด้วยท่าทางเพราะภาษาท่าทางจะเป็นภาษาสากลเบื้องต้นที่มนุษย์จะเข้าใจกันได้ และสามารถสื่อสารได้ทั่วโลก จะเห็นได้ง่าย ๆ เวลาเดินทางไปต่างประเทศที่ไม่รู้จักภาษาของเขา แต่ก็สามารถสื่อสารอะไรง่าย ๆ โดยท่าทาง เช่น การสั่งอาหาร โดยแสดงการชี้ไปที่อาหารและแสดงอาการตักอาหารเข้าปากก็เป็นที่เข้าใจว่าต้องการสั่งอาหารชนิดนั้น ๆ แต่ถ้าต้องการอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่านั้นก็คงจะต้องเรียนรู้ภาษาของประเทศนั้น เพื่อที่จะสื่อสารให้ได้มากกว่านั้น และจะมีความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้นก็ต้องศึกษาวัฒนธรรมจารีตประเพณีของเขาว่าเขาอยู่กันอย่างไรมีความคิดความเชื่อในการดำรงชีวิตอย่างไร ที่กล่าวมานี้ก็เพื่อที่จะให้เห็นว่ามนุษย์จะเข้าใจกันได้จะต้องมีสื่อกลางที่จะทำให้ผู้รับสารและผู้ส่งสารมีความเข้าใจได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่าย การสื่อสารนอกจากกริยาท่าทาง ภาษาพูดภาษาเขียนแล้ว ยังมีเครื่องหมาย สัญลักษณ์ และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายที่จะทำให้มนุษย์สื่อสารทำความเข้าใจกันได้             

การเขียนแบบจึงจัดเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารอีกภาษาหนึ่งเป็นภาษาสากลที่เข้าใจกันได้ในหลายชาติหลายภาษาและเป็นภาษาสากลบันทึกประวัติศาสตร์

           การเขียนแบบ (Technical drawing, drafting or drawing) หมายถึง วิธีการเขียนถ่ายทอดความคิดของผู้ออกแบบลงบนกระดาษอย่างเป็นระเบียบแบบแผน   เพื่อให้บุคคลได้เข้าใจโดยไม่จำกัดระยะเวลาในการศึกษาทำความเข้าใจ การเขียนแบบเป็นภาษาอย่างหนึ่งที่ใช้กันในงานช่างหรืองานอุตสาหกรรม  เป็นภาษาที่ถ่ายทอดความคิดหรือความต้องการของผู้ออกแบบไปให้ผู้อื่นได้ทราบ   และเข้าใจได้อย่างถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน โดยแบบที่เขียนขึ้นจะเป็นสื่อกลางที่จะนำความคิดไปสร้างได้อย่างถูกต้อง   อันจะเป็นการประหยัดและได้งานที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้ความเข้าใจที่ตรงกันการเขียนแบบจะต้องเป็นภาษาสากล  โดยเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ และรูปแบบต่าง ๆ   จะต้องเข้าใจได้ง่าย แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาวิชาเขียนแบบก็สามารถเข้าใจได้พอสมควร

 

ภาพที่ 1.1 แบบงานเป็นภาพประกอบแสดงความคิดของนักออกแบบ
ที่มา: Gemini62 (2010).  www.dreamstime.com/gemini62_info

 

          การเขียนแบบมีความสำคัญเป็นอย่างมากในงานช่างอุตสาหกรรมทุกสาขา เพราะแบบเป็นภาษาสากลที่ใช้แสดงหรือสื่อความหมายระหว่างวิศวกรกับช่างเทคนิค เพื่อถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นงาน หรือเครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้งานรอบ ๆ ตัวเรา ซึ่งในแบบงานนั้นจะต้องกำหนดรายละเอียดให้ครอบคลุม ขนาด รูปร่างวัสดุที่ใช้ และลักษณะของผิวงานนั้นๆ โดยมีวิวัฒนาการมาจากยุคโบราณ และได้มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ปัจจุบันเราได้นำเอาเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มาช่วยในการออกแบบเขียนแบบ

 

ภาพที่ 1.2 พระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 กับงานช่าง
ที่มา: ArtBangkok.com (2012).  www.artbangkok.com/?p=8932

 

         การเขียนแบบเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่จะสื่อสารระหว่างผู้ออกแบบกับผู้ผลิต หรือผู้นำความคิดนั้นมาทำเป็นรูปธรรมได้ตามที่ผู้คิดออกแบบได้คิดไว้ แบบจะเป็นสื่อกลาง เช่น แบบบ้าน แบบ ผลิตภัณฑ์ แบบสิ่งพิมพ์ หรือเรียกว่าต้นแบบ แล้วมีการสำเนาแบบไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน เช่น แบบบ้านซึ่งสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบจะต้องมีการสำเนาพิมพ์เขียวแบบส่งไปให้บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เจ้าของบ้าน ช่างสร้างบ้าน ช่างคุมการก่อสร้างบ้าน เขตปกครองเพื่อขออนุญาต สื่อสิ่งพิมพ์ก็เช่นกันผู้ออกแบบจะต้องร่างแบบ ออกแบบในรายละเอียด ตกลงกับผู้ว่าจ้างจนพอใจในการออกแบบนั้น ๆ จึงส่งต้นแบบให้โรงพิมพ์ เพื่อดำเนินการตามขบวนการพิมพ์ตีพิมพ์ออกมาตามความประสงค์ของผู้ออกแบบและผู้ว่าจ้าง ผู้ออกแบบผู้ว่าจ้างและโรงพิมพ์ต่างต้องเก็บต้นฉบับเพื่อตรวจผลการพิมพ์ เมื่อถูกต้องทั้งสามฝ่ายการชำระเงินในค่าดำเนินการต่าง ๆ จึงเกิด ขึ้นตามข้อตกลง เช่น การนำเสนองานตกแต่งภายในจำเป็นต้องมีแบบ การเขียนแบบแสดงรายละเอียดของส่านต่าง ๆ ที่ต้องการตกแต่ง การเขียนแบบ เป็นภาษาอย่างหนึ่งที่ใช้กันในการช่าง เป็นภาษาที่ถ่ายทอดความคิดหรือความต้องการของผู้ออกแบบไปให้ผู้อื่นได้ทราบ และเข้าใจได้อย่างถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน แบบเป็นสื่อกลางที่จะนำความคิดไปสร้างได้อย่างถูกต้อง อันจะเป็นการประหยัดและได้งานตรงตามความต้องการและมีคุณภาพ เพื่อให้ได้ความเข้าใจที่ตรงกันการเขียนแบบจะต้องเป็นภาษาสากลเครื่องหมายสัญลักษณ์รูปแบบจะต้องเข้าใจได้ง่าย แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาวิชาเขียนแบบก็สามารถเข้าใจได้พอสมควร นักศึกษาที่จะเรียนวิชาเขียนแบบได้ดีจำเป็นจะต้องทำแบบฝึกหัดเพื่อให้เกิดทักษะจะเรียนเพียงทฤษฎีเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้เหมือนกับการเรียนภาษาจะเขียนเพียง อย่างเดียวไม่ได้ จะต้องพูดและฟังด้วย การพูดบ่อย ๆ และฟังมาก ๆ ก็จะมีทักษะ การเรียนเขียนแบบก็เช่นเดียวกันจะต้องปฏิบัติควบคู่กันกันไปกับการเรียนทฤษฎี ทฤษฎีกับการปฏิบัติเป็นคนละเรื่องกันผู้มีทักษะทางทฤษฏีไม่ได้หมายความว่าจะมีทักษะทางปฏิบัติด้วย การเรียนเขียนแบบให้ได้ดีจะต้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติควบคู่กันไป

 

ภาพที่ 1.3 พระอัจฉริยภาพ “ในหลวง ร.9” กับงานศิลปะและการออกแบบ
ที่มา:  Manager Online (2550). www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=835721

 

           การเขียนแบบเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการช่างการผลิตที่ต้องการผลิตจำนวนมากงานเขียนแบบเป็นการแสดงให้เห็นภาพต้นแบบของผลิตภัณฑ์ การเขียนแบบเป็นการถ่ายทอดความคิดของผู้คิดออกแบบผลิตภัณฑ์ลงบนกระดาษอย่างเป็นระบบแบบแผน เพื่อให้บุคคลอื่นได้เข้าใจโดยไม่กำจัดระยะเวลาในการศึกษาทำความเข้าใจ “แบบงาน” เป็นหัวใจสำคัญหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นภาษาสากลที่ใช้แสดงหรือสื่อความหมายของงานที่จะสร้างหรือต้องการผลิตขึ้นมา  ภาพหรือรูปร่างที่เรียกว่าแบบงานนั้น   เขียนขึ้นโดยใช้เส้นชนิดต่าง ๆ  สัญลักษณ์และเครื่องหมายเฉพาะอื่น ๆ   เมื่อประกอบกันขึ้นมาเป็นรูปทรง   สามารถใช้สื่อความหมายให้ผู้เกี่ยวข้องได้เห็นรูปร่าง   ขนาด   ลักษณะของผิวงานชนิดของวัสดุ  เข้าใจวิธีการและขั้นตอนในการสร้างหรือการผลิต สามารถนำแบบงานมาคำนวณหาปริมาณของวัสดุ ประมาณราคาและระยะเวลาในการสร้างหรือผลิตงานนั้นได้ เป็นการยากที่จะระบุว่าอาชีพใด ที่ไม่ต้องการความสามารถในการอ่านแบบและเข้าใจแบบ

 

1.2 วิวัฒนาการของงานเขียนแบบ

          มนุษย์เริ่มรู้จักการเขียนแบบตั้งแต่สมัยโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากการสำรวจของนักโบราณคดี ได้ทำการสำรวจเมืองซักการา (Saqqara) ดินแดนอียิปต์โบราณสมัยของฟาโรห์โจเซอร์ (Djoser or Zoser) แห่งราชวงศ์ที่ 3 ของยุคอาณาจักรเก่า ได้พบบันทึกเป็นภาษารูปภาพ มีอายุประมาณ 4,500 ปี ก่อนคริสต์ศักราชในบันทึกนั้นจะใช้วิธีขีดเขียนเป็นสัญลักษณ์ รูปภาพบนก้อนหิน ผนังถ้ำ พื้นดิน และผิวหนัง เพื่อใช้ในการบันทึกความจำ บอกเล่าและสื่อสารเหตุการณ์ต่าง ๆ

 

ภาพที่ 1.4 ภาพสลักหินฟาโรห์โจเซอร์และอักษรภาพอียิปต์โบราณ

ที่มา: Francesco Raffaele (2010).  http://xoomer.virgilio.it/francescoraf/

 

          ต่อมามีการพบหลักฐานชิ้นสำคัญในทางโบราณคดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ งานทางด้านสถาปัตยกรรม โดยพบแผ่นหินเขียนเป็นภาพแปลนของป้อมปราการ ซึ่งเขียนโดย ซาลเดน กูตัว ชาวเมโสโปเตเมีย เมื่อประมาณ 4,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ชาวเมโสโปเตเมีย เป็นชาติแรกที่รู้จักการเขียนแบบ จากการสำรวจนักโบราณคดี พบแผ่นหินเขียนเป็นภาพแปลนของป้อมปราการ ซึ่งเขียนโดย ซาลเดนกูตัว

 

ภาพที่ 1.5 แผ่นหินเขียนเป็นภาพป้อมปราการ เขียนโดย ซาลเดนกูตัว

ที่มา: ประเวศ มณีกุล (2541). www.bspwit.ac.th

 

         ในศตวรรษที่ 15 ลิโอนาโด ดาวินซี ชาวอิตาลี ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของการเขียนแบบ ลิโอนาโด ดาวินซี เป็นนักปราชญ์ ที่ถ่ายทอดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการเขียนเป็นภาพ 3 มิติ ภาพจากจินตนาการของ ลิโอนาโด ดาวินซี หลายชิ้น เป็นต้นแบบในการสร้างเครื่อง
จักรกล

 

รูปที่ 1.6 ภาพสเกตช์ธนูขนาดใหญ่ จากจินตนาการของ ลิโอนาโด ดาวินซี
ที่มา: Sergio Porrini (2010). http://www.lanpro.net/projects/ambrosiana/

 

         ฟีลิปโป บรูเนลเลสกี (Filippo Brunelleschi) (ค.ศ. 1377 - 15 เมษายน ค.ศ. 1446) เป็นสถาปนิกชาวอิตาลี ในยุคเรอเนซองซ์ แห่งเมืองฟลอเรนซ์ เป็นสถาปนิกที่โด่งดังและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ผลงานที่สำคัญของต่อวงการออกแบบสถาปัตยกรรมของโลกมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การคิดค้นระบบการเขียนแบบทัศนียภาพหรือเพอร์สเปกทีฟ (perspective)

 

รูปที่ 1.7 รูปปั้นของฟีลิปโป บรูเนลเลสกี
ที่มา: Britannica (2010).  www.britannica.com/biography/Filippo-Brunelleschi

 

         ในศตวรรษที่ 18 แกสพาร์ด  มองกิจ (Gaspard Monge 1756-1818) นายช่างชาวฝรั่งเศส  ในสมัยพระเจ้าโปเลียน  เป็นผู้ริเริ่มการเขียนแบบภาพฉายในทางการก่อสร้างและทางทหาร ซึ่งในขณะนั้นสอนอยู่ในโรงเรียนโปลีเทคนิคในประเทศฝรั่งเศส  และได้พัฒนาการเขียนภาพฉายมาจนกระทั่งกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ในการเขียนภาพฉาย และได้ใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนการสอนวิชาเขียนแบบมาจนทุกวันนี้

 

ภาพที่ 1.8 เทคนิคการเขียนภาพฉายค้นพบโดย Gaspard Monge
ที่มา:  Wikipedia (2017). https://en.wikipedia.org/wiki/Gaspard_Monge

 

         ในศตวรรษที่  19 เป็นต้นมา  งานเขียนแบบได้แพร่หลายออกไปทั่วโลก  และได้มีวิวัฒนาการของการเขียนภาพฉายในลักษณะของการวางภาพฉายมุมที่  1  (First Angle Projection) ขึ้นมาใช้และกำหนดเป็นมาตรฐานสากลอีกแบบหนึ่ง โดยจัดเข้าไว้ในระบบ  ISO นอกจากการวางภาพฉายแบบมุมที่  1  แล้วยังมีลักษณะของการวางภาพฉายแบบมุมที่สาม  (Third Angle Projection) ซึ่งเป็นวิธีการมองภาพที่ใช้โดยทั่วไประบบ  ANSI  ในปัจจุบันระบบวางภาพฉายแบบมุมที่  3  นี้เริ่มแพร่หลายไปในหลาย ๆ  ประเทศทั่วโลก 

          การเขียนแบบได้มีวิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ ทั้งวิธีการเขียนเพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกันระหว่างผู้ออกแบบกับผู้ปฏิบัติงาน เช่น แบบภาพฉาย (orthographic projection) ภาพตัด (section) และการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ในการเขียนแบบ ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเขียนแบบ ซึ่งต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ของผู้เขียนเอง

          ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในงานเขียนแบบออกแบบ มีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเขียนแบบออกแบบ  ช่วยให้การเขียนแบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น  สามารถมองรูปแบบได้โดยละเอียด การแก้ไขทำได้สะดวกและรวดเร็ว โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการออกแบบเขียนแบบมีเป็นจำนวนมากซึ่งสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานช่างแต่ละสาขา  เช่น  โปรแกรม SketchUp, AutoCad, SolidWorks, Pro/DESKTOP ฯลฯ

1.3 ประเภทของงานเขียนแบบ

         การเขียนแบบเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับงานช่างอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเป็นจำนวนมาก  การเขียนแบบจะแสดงให้เห็นภาพซึ่งเป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ  ทั้งนี้การเขียนแบบสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 4 แบบดังนี้

1.3.1 Engineering Drawing) การเขียนแบบนำไปใช้ใน งานอุตสาหกรรมทางเครื่องจักรกล สามารถแยกได้ดังนี้ คือ

                 1) Machines Tool Drawing

                 2) Electrical Electronic Drawing

                 3) Automotive Drawing

                 4) Map & Survey Drawing

                 5) Metal & Sheet Metal Drawing

1.3.2 Architectural Drawing) การเขียนแบบทาง งานก่อสร้าง ซึ่งแยกงานเขียนได้ดังนี้ คือ

                 1) Structural Drawing

                 2) Shape & Proportion Drawing

                 3) Section Drawing

                 4) Sketching Drawing

1.3.3 Interior Design Drawing) การเขียนแบบที่ใช้ ในการออกแบบตกแต่งภายใน ซึ่งแยกงานเขียนได้ดังนี้ คือ

                 1) Furniture Drawing

                 2) Perspective Drawing

          1.3.4 การเขียนแบบผลิตภัณฑ์ (Product Drawing)

                 1) Orthographic Drawing

                 2) Three Dimension Drawing

          กล่าวโดยสรุปการเขียนแบบอาจจำแนกประเภทได้แตกต่างกัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกประเภท   อย่างไรก็ตามความมุ่งหมายของการเขียนแบบก็คือ  การถ่ายทอดความคิดลงบนแผ่นกระดาษหรือวัสดุอื่น ๆ  โดยมีรูปแบบที่เป็นสากลซึ่งประกอบด้วยเส้น  ภาพ  สัญลักษณ์  และคำอธิบายประกอบอย่างละเอียดสามารถนำไปผลิตชิ้นงานจริงได้

1.4 ประโยชน์ของการเขียนแบบ

          ประโยชน์ของงานเขียนแบบมีผลต่อการปฏิบัติงานช่างที่จะกำหนดรายละเอียดของงานและดำเนินงานไปได้ตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม การศึกษาวิธีการเขียนแบบเราจะต้องศึกษาหลักการเบื้องต้นของการเขียนแบบได้อย่างถูกวิธี จะช่วยให้มีความเข้าใจและนำไปเขียนแบบได้ความสำคัญของงานเขียนแบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเรา คือ

    1) การเขียนแบบเป็นสื่อกลาง 
    2) การเขียนแบบเป็นเอกสารอ้างอิง 
    3) การเขียนแบบเป็นภาษาสากล 
    4) ช่วยบันทึกตามแนวคิดสร้างสรรค์
    5) ช่วยในการจัดลักษณะและสัดส่วนของงานได้อย่างถูกต้อง
    6) ช่วยในการคิดคำนวณวัสดุในการปฏิบัติงานช่างได้อย่างถูกต้อง
    7) ช่วยในการนำรูปแบบที่ได้กำหนดแล้วนั้นไปปฏิบัติได้ตามแบบที่เขียนขึ้น

1.5 บทสรุป

         กล่าวโดยสรุปการเขียนแบบมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน และได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาสากลที่ใช้ในการสื่อสารภาษาหนึ่งที่สามารถเข้าใจได้ทุกชนชาติ มีความสำคัญและความจำเป็นต่องานช่างศิลป์ ช่างอุตสาหกรรมในปัจจุบัน การเขียนแบบเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่ใช้ในงานออกแบบทุกแขนง เพื่อแสดงรูปร่างลักษณะและรูปรางขนาดของสิ่งของเป็นการแสดงให้เห็นภาพอย่างถูกต้อง
ทั้งลักษณะรูปร่างขนาด ดังนั้นการเขียนแบบจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในงานช่างและงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ เรียกได้ว่าวิชาเขียนแบบเป็นหัวใจของงานช่างทุกแขนง

----------------------------------

https://short.npru.ac.th/3m